วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

นักธรรมศึกษาชั้นโท เนื้อหาวิชาอนุพุทธประวัติ

นักธรรมศึกษาชั้นโท  เนื้อหาวิชาอนุพุทธประวัติ  

วิชา อนุพุทธประวัติ


 
                อนุพุทธประวัติ  หมายถึง  เรื่องที่กล่าวถึงความเป็นไปในชีวประวัติ และปฏิปทาของหมู่ชนผู้ได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น แล้วรู้ตามจนสามารถดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
ประโยชน์ของการศึกษาอนุพุทธประวัติ อนุพุทธบุคคลเป็นพระสงฆ์สาวกซึ่งจัดเป็นรัตนะประการหนึ่งในรัตนะทั้งสามประการ  พระพุทธเจ้าแม้ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรม  แต่เมื่อขาดผู้ฟังธรรมและผู้ประพฤติปฏิบัติตาม   ความตรัสรู้ของพระองค์ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์  อนุพุทธบุคคลเป็นพยานในการตรัสรู้ของพระองค์  ทั้งได้เป็นกำลังของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา  เมื่อเราทราบความเป็นไปและปฏิปทาของท่านเหล่านั้นแล้ว  จักได้ถือเอาเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อตนและเพื่อผู้อื่นโดยเหมาะแก่ภาวะของตนอันจะเป็นเหตุให้พระศาสนารุ่งเรืองประการหนึ่ง
                จำนวนพระมหาสาวก   ตามนัยแห่งอรรถกถากำหนดจำนวนไว้   ๘๐  องค์    ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะจำนวน  ๔๑  องค์

ประวัติอนุพุทธะ ๘๐ องค์ (โดยย่อ)
. พระอัญญาโกณทัญญเถระ
ชาติภูมิ-การอุปสมบท 
ท่านเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านโทณวัตถุ  ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์นัก  เดิมชื่อ โกณทัญญะ  ภายหลังท่านทราบว่าพระมหาบุรุษทรงออกผนวชและกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยา  อยู่ที่ตำบลอุรุเวลเสนานิคม  ตามคำทำนายของตนว่าจะเสด็จออกบรรพชาและได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกในโลก”  จึงชวนพราหมณ์อีก  ๔  คน  คือ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ  ออกบวชติดตามไปเฝ้าปฏิบัติอยู่  ๖  ปี  ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้  แล้วจักสอนตนให้รู้บ้าง ครั้นพระมหาบุรุษทรงเลิกทุกกรกิริยา ปรารภจะทำความเพียรทางใจจึงเบื่อหน่ายในพระมหาบุรุษ  หลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน   ครั้นพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้วได้เสด็จมาแสดง พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร   อันเป็นปฐมเทศนา ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุพระโสดาปัตติผล  พระบรมศาสดาจึงทรงเปล่งพระอุทานว่า  อญฺญาสิ  วต โภ โกณฺทญฺโญ เพราะคำว่า  อัญญาสิ  ท่านจึงได้ชื่อว่า  อัญญาโกณทัญญะ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภายหลังพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาชื่อว่า  อนัตตลักขณสูตร  ท่านจึงได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกับพราหมณ์อีก  ๔  คน
เอตทัคคะ
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางรัตตัญญู  คือท่านผู้รู้ราตรีนาน  เพราะท่านรู้ธรรมและบวชก่อนสาวกทั้งปวง
. พระวัปปเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ผู้ที่ถูกเลือกเข้าทำนายพระลักษณะของพระมหาบุรุษ ท่านได้รับคำแนะนำจากบิดาให้ออกบวชตามพระมหาบุรุษจึงออกบวชพร้อมกับพราหมณ์อีก ๔ คน มีโกณทัญญะเป็นหัวหน้า  คอยอุปัฏฐากรับใช้พระมหาบุรุษ  เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทรงละทุกกรกิริยา  จึงหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปโปรดแสดง พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร  แต่ท่านไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไรเลย  วันรุ่งขึ้นได้ฟัง ปกิณณกเทศนา ท่านจึงได้ดวงตาเห็นธรรม จากนั้นได้ทูลขออุปสมบท  พระบรมศาสดาทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเมื่อท่านมีอินทรีย์แก่กล้า  ได้ฟังเทศนาชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  ท่านได้เป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาในช่วงปฐมโพธิกาล
. พระภัททิยเถระ 
(มีประวัติคล้ายพระวัปปเถระ ฯ)
. พระมหานามเถระ
(มีประวัติคล้ายพระวัปปเถระ  แต่ท่านได้ฟังปกิณณกเทศนา ๒  ครั้ง จึงได้ดวงตาเห็นธรรม ฯ)
. พระอัสสชิเถระ
มีประวัติคล้ายกับท่าน๓ องค์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ท่านได้ฟังปกิณณกเทศนา ๒ ครั้งจึงได้ดวงตาเห็นธรรม และท่านยังได้เป็นอาจารย์ของ พระสารีบุตรเถระเมื่อครั้งยังเป็นปริพพาชก นับว่าท่านได้มีศิษย์สำคัญองค์หนึ่ง
. พระยสเถระ
ชาติภูมิ 
ท่านเป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี  ซึ่งมีเรือน  ๓  หลังเป็นที่อยู่  ๓  ฤดู
เหตุที่ออกบวช 
เนื่องด้วยความสลดใจ  ในหมู่นางบำเรอที่แสดงอาการวิปลาสต่างๆ  ในคืนวันหนึ่งจึงเกิดความเบื่อหน่ายเดินบ่นว่า  ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ”  ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระบรมศาสดาได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล รุ่งขึ้นเช้าตรู่เศรษฐีผู้บิดาทราบจึงได้ติดตามไปพบ ได้ฟังอนุปุพ พีกถาและอริยสัจ  ๔  ก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  ส่วนยสกุลบุตรได้ฟังซ้ำอีกหนก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล  ครั้นเศรษฐีผู้บิดาไปแล้วจึงได้ทูลขออุปสมบท  ก็ทรงอนุญาตให้ด้วยพระดำรัสว่า  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแปลว่า  สาวกอื่นที่ไม่ได้สำเร็จอรหันต์ก่อนบรรพชาว่า  เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
การบำเพ็ญประโยชน์ 
การอุปสมบทของท่านในครั้งนี้ถือว่าสำคัญมาก  เพราะเป็นเหตุให้เพื่อนของท่านอีก ๕๔
คนได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา และเป็นกำลังของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนาในช่วงปฐมโพธิกาล

. พระวิมลเถระ
                ท่านเป็นบุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี เป็นเพื่อนผู้มีความสนิทสนมกับพระยสะมากในช่วงที่เป็นฆราวาส  เมื่อท่านได้ทราบข่าวว่า ยสะสหายผู้เป็นที่รักออกบวชแล้ว  จึงคิดว่า ศาสนาที่ยสะออกบวชนี้จักไม่เลวทรามเป็นแน่แท้  คงจะเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้สนใจเป็นแน่แท้”  คิดได้อย่างนั้นจึงไปชักชวนสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ  ปุณณชิ  และควัปติ  พากันเข้าไปหาพระยสะบอกความประสงค์ในการมา  พระยสะจึงได้พาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ทูลขอให้พระองค์ทรงสั่งสอน  พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้บรรลุธรรมวิเศษและประทานอุปสมบทให้  ต่อมาภายหลังก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันตขีณาสพ
. พระสุพาหุเถระ 
(มีประวัติคล้ายพระวิมลเถระ ฯ)
. พระปุณณชิเถระ 
(มีประวัติคล้ายพระวิมลเถระ ฯ)
๑๐. พระควัมปติเถระ
 (มีประวัติคล้ายพระวิมลเถระ ฯ)
๑๑. พระอุรุเวลกัสสปเถระ
ชาติภูมิ 
ท่านเป็นบุตรพราหมณ์กัสสปะโคตร มีน้องชาย ๒ คน  ภายหลังบวชเป็นชฏิล  ท่านมีบริวาร  ๕๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ตำบลอุรุเวลเสนานิคมในมคธรัฐ จึงมีฉายาว่า อุรุเวลกัสสปะน้องชายคนกลางมีบริวาร  ๓๐๐  ตั้งอาศรมที่คุ้งเแม่น้ำคงคา  จึงมีฉายาว่า  นทีกัสสปะ”  น้องชายคนเล็กมีบริวาร  ๒๐๐  คน   ตั้งอาศรม ณ  บริเวณคยาสีสะ  จึงมีฉายาว่า  คยากัสสปะ
การอุปสมบท 
เมื่อพระบรมศาสดามาสู่มคธชนบทด้วยปรารถนาดำรงพระศาสนา ให้ตั้งมั่นในแคว้นนี้จึงได้เสด็จไปเพื่อนำท่าน ซึ่งเป็นที่นับถือของประชาชนเพื่อเป็นกำลัง  เพื่อสะดวกแก่การประกาศพระศาสนา  ได้ทรงทรมานท่าน ด้วยอุบายต่างๆ  จนท่านหมดทิฏฐิลอยชฏิลบริขาร  ทูลขออุปสมบท  ทรงอนุญาตด้ายเอหิภิกขุ  และน้องชายทั้ง  ๒  ก็มาบวชตามพี่ชายหมด
การบรรลุธรรม
ภายหลังอุปสมบท พระบรมศาสดาทรงตรัสเทศนาชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร โปรด  ท่านจึงบรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกับบริวารและน้องชาย

การบำเพ็ญประโยชน์

ท่านได้ไปกับพระบรมศาสดาถึงสวนตาลหนุ่มชื่อว่า ลัฏฐิวัน  ได้ประกาศให้พระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งข้าราชบริพารรู้ว่าลัทธิเดิมของท่านไม่มีแก่นสาร  ทำให้ชนเหล่านั้นเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ครั้งนี้จัดได้ว่าท่านได้ช่วยเป็นกำลังในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ
เอตทัคคะ
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางมีบริวารมาก  เพราะท่านมีบริวารมากและรู้จักการบริหารการเอาใจบริวาร
๑๒. พระนทีกัสสปเถระ 
(มีประวัติดังที่ได้อธิบายไว้ในประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ ฯ)
๑๓. พระคยากัสสปเถระ 
(มีประวัติดังได้อธิบายไว้ในประวัติพระอุรุเวลกัสสปะเถระ ฯ)
๑๔. พระสารีบุตรเถระ
ชาติภูมิ 
ท่านเป็นบุตรวังคันตพราหมณ์  และนางสารี ผู้เป็นนายบ้านนาลันทะกรุงราชคฤห์  เดิมชื่อ อุปติสสะ  เพราะเป็นบุตรนางสารีจึงเรียก สารีบุตร  มีน้องสาว  ๓  คน  คือ  จาลา อุปจาลา สีสุปจาลา  น้องชาย ๓  คน คือ  จุนทะ  อุปเสนะ  เรวตะ (บวชหมด)
การออกบวช 
ท่านมีสหายคนหนึ่งชื่อโกลิตะ(โมคคัลลานะไปดูมหรสพในกรุงด้วยกันเสมอ  ต่อมาวันหนึ่งเกิดสลดใจจึงชวนกันออกบวชเป็นปริพพาชกในสำนักสญชัยปริพพาชก  ศึกษาอบรมจนจบลัทธิเห็นว่าไม่เป็นแก่นสารจึงชวนกันออกหาอาจารย์ใหม่   ต่อมาได้ฟังเทศนาของพระอัสสชิเถระได้สำเร็จโสดาปัตติผล    จึงชวนโกลิตะไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ณ  วัดเวฬุวัน  ทูลขออุปสมบท
การบรรลุธรรม 
ภายหลังอุปสมบทได้ ๑๕ วัน  ไดัฟัง เวทนาปริคคหสูตร ที่พระบรมศาสดาประทานแก่  ฑีฆนขปริพ พาชก  อัคคิเวสนโคตร  ณ  ถ้ำสุกรขาตา  เขาคิชกูฏ  ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เอตทัคคะ
ท่านมีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา  พระองค์จึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางมีปัญญามาก
คุณธรรมพิเศษ
ท่านมีคุณความดีอีกหลายอย่างที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะที่สำคัญดังนี้ :- 
                . ทรงยกย่องให้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาคู่กับพระมหาโมคคัลลานเถระ
                . ทรงยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี  คู่กับพระศาสดาที่เป็นพระธรรมราชา
                . เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที
การนิพพาน 
ท่านดำรงชีพมาถึงพรรษาที่ ๔๘ ได้ทูลลาพระบรมศาสดาไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน  เมื่อจวนนิพพานได้แสดงธรรมโปรดมารดาซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลจนสำเร็จ  จากนั้นก็นิพพาน
๑๕. พระมหาโมคคัลลานเถระ
ชาติภูมิ-การอุปสมบท 
ท่านเป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านโกลิตะกับนางโมคคัลลี  เดิมชื่อว่าโกลิตะ  ได้ออกบวชเป็นปริพพานชกับพระสารีบุตร  ภายหลังได้ฟังธรรมของพระอัสสชิที่พระสารีบุตรนำมาบอก  ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล  ได้อุปสมบท  ณ  วัดเวฬุวัน  พร้อมกับพระสารีบุตร
การบรรลุธรรม 
หลังจากบวชได้ ๗ วันได้ไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม  แขวงมคธรัฐ เกิดความอ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่  พระบรมศาสดาเสด็จไปแสดงอุบายแก้ง่วง  ๘  ข้อแล้วทรงแสดงธรรมของผู้ปรารถนาน้อยและธรรมเครื่องสิ้นตัณหาโดยลำดับ  ท่านปฏิบัติตามพุทธโอวาท  ก็สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางมีฤทธิ์มาก  ท่านได้รับยกย่องเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายคู่กับพระสารีบุตรด้วย
นิพพาน 
ท่านนิพพานภายหลังพระสารีบุตร  ๑๕  วัน  ณ  กาลสิลามคธรัฐ  ถูกพวกโจรที่เคียรถีย์จ้างให้มาฆ่า  เพราะเหตุที่ท่านทำให้พวกคนเสื่อมจากลาภ  พวกโจรทุบท่านจนกระดูกแหลกสำคัญว่ามรณะ  จึงนำไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วหนีไป ท่านเยียวยาสรีระ ด้วยกำลังฌานแล้ว  มาทูลลาพระบรมศาสดากลับไปนิพพานที่เดิม พระบรมศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจ สั่งให้เก็บอัฐิไปบรรจุไว้  ณ  ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน
๑๖. พระมหากัสสปเถระ
ชาติภูมิ-การอุปสมบท 
ท่านเป็นบุตรกบิลพราหมณ์กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ  แคว้นมคธ  เดิมชื่อปิปผลิพออายุ  ๒๐  ปีได้แต่งงานกับ นางภัททกาปิลานี บุตรตรีของพราหมณีโกสิยโคตร  ต่อมาจิตเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือนจึงพากันออกบวชอุทิศพระบรมศาสดา วันหนึ่งได้พบกับพระบรมศาสดาที่พหุปุตตนิโครธจึงย่อกายเข้าไปถวายบังคมทูลขออุปสมบท  พระองค์ทรงอุปสมบทให้ด้วยการประทานโอวาท  ๓  ข้อคือ
                . พึงเข้าไปตั้งความละอาย  ความเกรง  ไว้ในภิกษุทุกชั้นอย่างแรงกล้า
                . พึงตั้งใจฟังธรรมที่เป็นกุศล  และพิจารณาเนื้อความ
                . ไม่พึงละสติที่พิจารณาไปในกายเป็นอารมณ์
ท่านบำเพ็ญเพียรไปตามพุทธโอวาทนั้น  ในวันที่  ๘  ก็ได้บรรลุพระอรหันตตผล
เอตทัคคะ
ท่านปฏิบัติมักน้อยสันโดษอยู่ในธุดงค์  ๓  คือ  ทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร  เที่ยวบิณฑบาตรเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร  ดังนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางทรงธุดงค์

หน้าที่สำคัญหลังพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรนิพพานและถวายพระเพลิงสรีระแล้วประมาณ  ๗  วัน  ท่านได้รวบรวมสงฆ์ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยหลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ  นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้รวบรวมเอาพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักสืบ
๑๗. พระมหากัจจายนเถระ 
ชาติภูมิ-การออกบาช 
ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ ชื่อว่ากัญจนา กัจจายนโคตร เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต  แห่งกรุงอุช เชนี  พระเจ้าจัณฑปัชโชตรับสั่งให้ท่านไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับบริวาร  ๗  คน  ณ  เวฬุวนาราม  เพื่อกราบทูลเชิฐเสด็จไปนครอุชเชนี  ครั้นไปถึงได้ฟังพระธรรมเทศนาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด  จากนั้นพระบรมศาสดาทรงประทานอุปสมบทให้  พระบรมศาสดาโปรดให้ท่านกลับไปแสดงธรรมแก่พระเจ้าจัณฑปัชโชต  ให้ท้าวเธอมีความเลื่อมใส  แล้วกลับมายังสำนักพระบรมศาสดา

เอตทัคคะ

ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางอธิบายภาษิตย่อให้พิสดาร
๑๘. พระอชิตเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในกรุงสาวัตถีได้ศึกษาศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรีจนมีวิชาแก่กล้า     พราหมณ์พาวรีได้มอบหมายให้ท่านเป็นหัวหน้าในมาณพ  ๑๖  คน ให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์  เพื่อทูลถามปัญหา  ครั้นได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหัตตผล  เมื่อมาณพ  ๑๖  คน  ทูลถามปัญหาครบแล้ว  อีกทั้งพระบรมศาสดาก็ได้พยากรณ์ปัญหาเสร็จหมดแล้ว  ทั้งหมดก็ได้ทูลถามทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา  พระบรมศาสดาทรงประทานให้เป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุสัมปทา  ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่อัตภาพแล้วก็นิพพาน
๑๙. พระติสสเมตเตยยเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๐. พระปุณณกเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๑. พระเมตตคูเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๒. พระโธตกเถระ    (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๓. พระอุปสีวเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๔. พระนันทกเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๕. พระเทมกเถระ    (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๖. พระโตทเทยยเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๗. พระกัปปเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๘. พระชตัณณีเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๒๙. พระภัททราวุธเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๓๐. พระอุทัยเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๓๑. พระโปสาลเถระ   (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)
๓๒. พระโมฆราชเถระ  (มีประวัติคล้ายกับพระอชิตเถระ ฯ)

เอตทัคคะ

ท่านยินดีในการครองจีวรเศร้าหมอง จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
๓๓. พระปิงคิยเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ชาวนครสาวัตถี  เป็นหลานพราหมณ์พราหมณ์พาวรี    ขณะฟังปัญหาพุทธพยากรณ์  ใจระลึกถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ว่าเสียดายที่ไม่ได้มาฟังพุทธดำรัสด้วย เหตุดังนี้จึงทำให้ท่านสำเร็จเพียงโสดาปัตติผล  ครั้นบวชพร้อมกับมาณพอีก ๑๕ คนแล้วจึงทูลลาพระบรมศาสดาไปเล่าความทั้งปวงแก่พราหมณ์พาวรีแล้วกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดาภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน   จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์  ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์  ได้บรรลุอนาคามิผล
๓๔. พระราธเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในกรุงราชคฤห์  ประสงค์จะบวชแต่พวกภิกษุเห็นท่านแก่ไม่ยอมบวชให้เมื่อท่านไม่ได้บวชก็เสียใจจนร่างการซูบผอม  พระบรมศาสดาทรงทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของท่าน จึงรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า 
มีใครระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้างพระสารีบุตรทูลว่าระลึกได้เพราะเคยได้รับข้าวทัพพีหนีงจากพราหมณ์เมื่อไปบิณฑบาตร พระบรมศาสดาทรงตรัสสรรเสริญว่า สารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากแม้ข้าวทัพพีหนึ่งยังระลึกได้จึงทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บวชราธพราหมณ์ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา  ณ  วัดเวฬุวัน  นับว่าเป็นภิกษุองค์แรกที่บวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา  เมื่อท่านบวชแล้วได้ฟังท่านได้เทียวไปกับพระสารีบุตรเถระ  เจริญสมณธรรมด้วยความไม่ประมาท  ไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ  ท่านเป็นผู้ว่าง่าย  และฉลาดปฏิบัติในคำสั่งสอน   พระบรมศาสนาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณในคำสั่งสอน
๓๕. พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
                ท่านเป็นบุตรของนางตานี(น้องสาวพระอัญญาโกณทัญญะ)ท่านได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาโดยมีพระอัญญาโกณทัญญะชักนำ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปเจริญกัมมัฏฐานที่บ้านเกิดของท่านได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ  ท่านประกอบด้วยคุณ  ๑๐  ประการ คือ  มักน้อย  สันโดษ  ชอบสงัด  ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่  ปรารภความเพียรบริบูรณ์ด้วย  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  วิมุตติ  ความรู้ความเห็ฯในวิมุตติ  เมื่อท่านตั้งอยู่ในคุณนี้แล้วท่านก็ได้สั่งสอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมนี้ด้วย  อาศัยเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระธรรมกถึก
๓๖. พระกาฬุทายีเถระ
                ท่านเป็นบุตรมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์  เมื่อเจริญวัยแล้วได้รับตำแหน่งดุจเดียวกับบิดา  ท่านเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระมหาบุรุษด้วยได้อุปสมบทที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร ในคราวที่พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ไปทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดามายังกรุงกบิลพัสดุ์  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์  จนสำเร็จพระอรหัตตผลและบวชพร้อมกับบริวารพันหนึ่งแล้วท่านจึงทูลเชิญเสด็จตามพระราชดำรัส
เอตทัคคะ 
ท่านล่วงหน้าไปก่อน  แล้วจัดการชักชวนประชาชนมีพวกกษัตริย์เป็นประมุข  ให้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันดี   อาศัยความรอบคอบของท่านนี้  พระบรมศาสดาจึงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางเป็นผู้ยังสกุลที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
๓๗. พระนันทเถระ
                ท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระมหาบุรุษ  ในวันที่  ๒  แต่วันเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์  พระศาสดาเสด็จไปทำภารกิจในวันอาวาหมงคลของนันทกุมารกับนางชนบทกัลยาณีเสร็จแล้ว  ส่งบาตรให้นันทกุมารแล้วเสด็จกลับ  นันทกุมารถือบาตรตามมาจนถึงวิหารเอาบาตรถวาย  พระบรมศาสดาตรัสถามว่าอยากบาชหรือเปล่า เธอไม่ปรารถนาแต่ด้วยความเคารพจึงทูลรับเมื่ออุปสมบทแล้วเบื่อหน่ายในเพศพรหมจรรย์ พระบรมศาสดาพาเสด็จเที่ยวเมืองสวรรค์ แล้วรับปากจะให้เทพธิดาสวยๆ ให้แก่ท่าน  แต่ให้ท่านตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ พระนันทตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะได้เทพธิดาสวยๆ จนเรื่องกระจายไปทั่ว พวกภิกษุต่างพากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทเป็นลูกจ้างท่านเกิดความละอาย จึงหลีกไปบำเพ็ญเพียรแต่ผู้เดียวจนบรรลุพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ  
เมื่อท่านจะแลไปทางไหนๆ  ย่อมมีสติสำรวมเสมอ  พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางสำรวมระวังอินทรีย์             
๓๘. พระราหุลเถระ
                ท่านเป็นพระโอรสของพระมหาบุรุษกับพระนางพิมพา เมื่อพระบรมศาสดาแรกเสด็จไปโปรดพระชนกและพระประยูรญาติ  ในวันที่  ๗  แต่เสด็จไปราหุลกุมารได้มาเฝ้าทูลขอสมบัติ  ตามพระมารดารับสั่งมา  พระบรมศาสดาจึงทรงประทานโลกุตตรสมบัติโดยรับสั่งให้พระสารีบุตรเถระบรรพชาเป็นสามเณรเสีย (รูปแรกในพระพุทธศาสนา) เพราะพระชนมายุยังไม่ถึงบวชพระ ท่านเป็นต้นบัญญัติแห่งการห้ามไม่ให้บวชคนที่พ่อแม่ไม่อนุญาติ เมื่ออุปสมบทแล้ว  มีอินทรีย์แก่กล้าได้ฟังพระธรรมเทศนาจึงได้บรรลุพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
อาศัยความที่ท่านเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาธรรมวินัยตั้งแต่บวชเป็นสามเณรมา  พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษา
๓๙. พระอุปาลีเถระ
                ท่านเป็นบุตรนายช่างกัลลบก  เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นนายภูษามาลาในราชสำนัก  ออกบวชพร้อมกับภัททิยศากยราชเป็นต้นที่อนุปิยอัมพวัน   แคว้นมัลละ   เรียนกัมมัฏฐานจากพระบรมศาสดาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

เอตทัคคะ

ต่อมาพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนพระวินัยปิฏกแก่ท่านด้วยพระองค์เองจนชำนาญ  ท่านฉลาดในการตัดสินอธิกรณ์ต่างๆ  ภายหลังพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางทรงจำพระวินัย

หน้าที่สำคัญหลังพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย  สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระวินัยปิฏก  เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญในทางนี้
๔๐. พระภัททิยศากยเถระ
                ท่านเป็นพระโอรสของพระนางศากิยกัญญา  พระนามว่าอาฬีโคธาราชเทวี  ได้สืบราชสันติวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของศากยวงศ์  ต่อมาภายหลังอนุรุทธกุมารผู้สหายชักชวนออกผนวช  ก็ได้เสด็จออกผนวชพร้อมกับพระราชกุมาร  ๕  พระองค์  คือ  อนุรุทธ  อานันทะ  ภัคคุ  กิมพิละ  เทวทัต  และนายอุปาลีภูษามาลาคราวที่พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน   ครั้นผนวชแล้วบำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้น
เอตทัคคะ
ท่านได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติแล้ว  ถึงอย่างนั้นก็ทรงสละราชสมบัติออกบวช  ด้วยเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางเกิดในสกุลสูง
๔๑. พระอนุรุทเถระ
                ท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะศากยราช  มีพี่ชายชื่อมหานามะ  มีน้องสาวชื่อโรหิณี  ออกผนวชพร้อมกับศากยกุมารทั้ง  ๕  พระองค์กับนายอุปาลี  เมื่อผนวชแล้วเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระสารีบุตร  ไปทำความเพียรที่สวนปาจีนวังสะมฤคทายวัน  เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ได้ตรึกถึง มหาปุริสวิตก  ๗  ประการ  พระบรมศาสดามาประทานอนุโมทนาแล้วให้ตรึกถึงข้อที่  ๘  ท่านตรึกไปตามกระแสพุทธดำรัสไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์เอตทัคคะ
ท่านมีปกติพิจารณาหมู่สัตว์อันปรากฏในโลกที่ไกลโดยฉับพลันด้วยทิพพจักษุ  ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางมีทิพยจักษุญาณ   
๔๒. พระอานนทเถร
                ท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะกับพระนางกีสาโคตมี  ในกรุงกบิลพัสดุ์  เสด็จออกผนวชพร้อมกับศากยะกุมารและนายอุปาลีภูษามาลาที่อนุปิยอัมพวันแคว้นมัลละ ครั้นผนวชแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระปุณณมันตานีบุตร  ก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล
เอตทัคคะ
เพราะเหตุที่ท่านเป็นพหูสูต  จึงได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาประทานแก่ตนเองและที่ประทานแก่ผู้อื่น  ท่านมีสติทรงจำไว้มากและเอาธุระในการศึกษาเล่าเรียน  จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก  และเป็นพุทธอุปัฏฐากที่ดี  ดังนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย  ๕  สถาน   คือ   เป็นพหูสูต ๑  มีสติ ๑  มีคติคือความ ๑  มีธิติคือความทรงจำ ๑ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ๑
หน้าที่สำคัญหลังพุทธปรินิพพาน
เพราะเหตุที่ท่านเป็นพหูสูต   เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว  พระมหากัสสปเถระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้ เป็นผู้วิสัชชนาในส่วนของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก  ท่านสำเร็จพระอรหัตตผลก่อนที่จะทำการสังคายนา ๑ วันคือ เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ  ครั้นถึงเวลาเย็นก็อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม  จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในท่าที่จะล้มตัวลงนอน
การนิพพาน
เมื่อท่านดำรงชีพอยู่พอสมควรแล้ว  ก็นิพพาน  ณ  ท่ามกลางอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี  อันเป็นพรมแดนระหว่างนครกบิลพัสดุ์และโกศิยนครต่อกัน
๔๓. พระภัคคุเถระ
                ท่านเป็นโอรสของเจ้าศากยะองค์หนึ่ง ในนครกบิลพัสดุ์  ออกบวชพร้อมกับศากยะกุมารและนายอุปาลีภูษามาลา  ที่อนุปิยอัมพวันแคว้นมัลละ  เมื่อบวชแล้วเจริญสมณธรรมไม่นานก็บรรลุพระอรหัตตผล

๔๔. พระกิมพิลเถระ
                ท่านเกิดในศากยราชตระกูล  เมื่อเจริญวัยแล้ว  อนุรุทธกุมารชวนออกบวช  จึงออกบวชพร้อมกับศากยกุมาร  ที่อนุปิยอัมพวัน  เมื่ออุปสมบทแล้วบำเพ็ญสมณธรรมจนสำเร็จพระอรหัตตผล
๔๕. พระโสณโกฬิวิสเถระ
                ท่านเป็นบุตรอสุภเศรษฐี  สกุลพ่อค้าในจัมปานคร  อุปสมบทในสำนักพระบรมศาสดา  ที่วัดเวฬุวัน  เมื่ออุปสมบทแล้วทำความเพียรเดินจงกลมจนเท้าแตก  ก็ไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์  ภายหลังพระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสสอนให้บำเพ็ญเพียรพอเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  ยกพิณ  ๓  สายขึ้นเป็นอุทาหรณ์  เพราะว่าท่านชำนาญในการดีดพิณ  จากนั้นท่านบำเพ็ญพอเป็นมัชฌิมา  ก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
เพราะท่านได้ปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า  แต่ครั้งยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์  พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
๔๖. พระรัฏฐบาลเถระ
                ท่านเป็นบุตรรัฏฐบาลเศรษฐีในหมู่บ้านถุลลโกฏฐิตนิคม  แว่นแคว้นกุรุ  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา  เกิดศรัทธาเลื่อมใสอยากจะบวช  แต่ต้องไปลามารดา บิดาก่อน  เมื่อมารดา บิดาไม่อนุญาตก็เสียใจไม่นอน ไม่กินอาหาร  ยอมตายในเมื่อไม่ได้บวชสมหวัง  ในที่สุดได้รับอนุญาตก็มีความยินดี  บำรุงร่างกายพอมีกำลังแล้วไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท  ก็โปรดให้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกกรมวาจา  เมื่อบวชแล้วครึ่งเดือนตามเสด็จไปสาวัตถี    เจริญวิปัสสนาด้วยความไม่ประมาท   ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
อาศัยคุณที่ท่านบวชด้วยศรัทธามาแต่เดิม  พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา
๔๗. พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
                ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ภารทวาชโคตรในกรุงราชคฤห์  เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาจนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์  ต่อมาได้เป็นคณาจารย์ใหญ่  เมื่อพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนามาถึงพระนครราชคฤห์  ท่านได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้า  ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธาเลื่อมใสทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เมื่ออุปสมบทแล้วบำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้บรรลุรพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ตามปกติไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน ๆ  แม้ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา  ท่านชอบบันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคและผล  จงถามเราเถิดอาศัยเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท
๔๘. พระมหาปันถกเถระ
                ท่านเป็นบุตรธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์  เศรษฐีพาท่านไปฟังเทศน์เสมอ ๆ  ท่านมีความเลื่อมใสจึงขอตามไปบวชเป็นสามเณร  ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  แล้วเจริญกัมมัฏฐานจนสำเร็จพระอรหันต์
เอตทัคคะ
ท่านได้เป็นภัตตุเทสก์ของสงฆ์  และพระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา
๔๙. พระจูฬปันถกเถระ
                ท่านเป็นน้องชายของพระมหาปันถกเถระ  พี่ชายได้ชวนมาบวชในพระพุทธศาสนา  ครั้นบวชแล้วพระพี่ชายให้ท่องคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณตั้ง  ๔  เดือน  ก็จำไม่ได้  พี่ชายจึงไล่ออกจากวิหาร  และถอนชื่อออกจากภิกษุที่ควรถูกนิมนต์  ท่านเสียใจคิดจะสึก  พระบรมศาสดาทรงทราบจึงเสด็จไปปลอบโยนและทรงประทานผ้าขาวให้ท่านลูบคลำ แล้วพิจารณาเข้ามาในกาย  พออรุณขึ้นท่านเห็นผ้าเก่าไปแล้วพิจารณาโน้มเข้ามาในกาย  ก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในขณะนั้น
เอตทัคคะ  
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญมโนมยิทธิ
๕๐. พระโสณกุฏิกัณณเถระ
                ท่านเป็นบุตรนางกาฬีผู้โสดาบันอุปัฏฐากพระมหากัจจายนเถระ  ท่านได้คุ้นเคยกับพระมหากัจจายนะ  เมื่อโตขึ้นปรารถนาจะบวชแต่ไม่มีสงฆ์พอคณะ  จึงต้องบวชเณรอยู่ถึง  ๓  ปี  พอได้ภิกษุครบองค์  จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ  ครั้นบวชแล้วเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสำเร็จพระอรหัตตผล

เอตทัคคะ
ต่อมาท่านได้ลาอุปัชฌาย์มาเฝ้าพระบรมศาสดา  และได้ถวายธรรมเทศนาด้วยถ้อยคำอันไพเราะ  อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
๕๑. พระสุภูติเถระ
                ท่านเป็นบุตรสุมนเศรษฐีในนครสาวัตถี เพราะมีผิวขาวงามจึงมีชื่อว่า สุภูติ”  ได้ฟังพระธรรมเทศนาเกิดศรัทธาเลื่อมใส  อุปสมบท  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  แล้วเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางอรุณวิหาร
(คือเจริญฌาณประกอบด้วยเมตตา)   และเป็นทักขิเณยยบุคคล (คือผู้ควรรับทักขิณาทาน)

๕๒. พระลกุณฏกภัททิยเถระ
                ท่านเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งในพระนครสาวัตถี มีร่างกายเล็กต่ำเตี้ย ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา    มีความเลื่อมใสจึงออกบวช  ครั้นได้บวชสมประสงค์แล้วเจริญกัมมัฏฐานจนสำเร็จโสดาปัตติผล ต่อมาได้สนทนากับพระสารีบุตรเถระ เมื่อสนทนาอยู่จิตท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา               
เอตทัคคะ
ท่านเป็นผู้มีเสียงไพเราะเสนาะโสตแก่ผู้ฟัง เหตุดังนี้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงไพเราะ
๕๓. พระกังขาเรวตเถระ
                ท่านเป็นบุตรชาวเมืองสาวัตถี     มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงอุปสมบท   ณ  เชตวันมหาวิหาร      เมื่ออุปสมบทแล้วเจริญสมณธรรมไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านเป็นผู้ชำนาญในฌานสมาบัติเข้าออกทั้งกลางวัน กลางคืน  ด้วยเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญฌานสมาบัติ
๕๔พระวักกลิเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์  ในเมืองสาวัตถี  เมื่อเจริญวัยแล้วได้ศึกษาจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์เลื่อมใสในพระรูปโฉมของพระบรมศาสดา  ออกบวชในพระพุทธศาสนา  ณ  วัดเชตวันมหาวิหาร  ครั้นบวชแล้วมัวดูแต่พระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอย่างเดียว  พระบรมศาสดาจึงทรงประณามไล่ท่านเสีย   ท่านเสียใจจะไปกระโดดเหวตาย  พระบรมศาสดาทรงทราบจึงทรงแผ่รัศมีเป็นรูปพระองค์ไปปลอบ  ท่านเกิดปีติจนการลอย  เมื่อข่มสติได้แล้วพิจารณาตามภูมิธรรมก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างศรัทธาวิมุตติ   คือ  พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา
๕๕. พระโกณฑธานะ
                ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี  เดิมชื่อ ธานะ”  ได้เรียนจบไตรเพท  ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา   เลื่อมใสได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา   หลังจากบวชแล้วท่านจะไปหรืออยู่ไหนย่อมมีรูปหญิงสวยติดตามหลังท่านเสมอ  ด้วยกรรมชั่วที่ท่านทำไว้ในกาลก่อน  คฤหัสถ์และบรรพชิตได้เห็นก็ตำหนิและเยาะเย้ยต่างๆ มีกล่าวว่า ธาโน  โกณฺโฑ  ซาโต ดังนี้คำว่า กุณฑจึงเป็นชื่อนำหน้าท่าน  เมื่อพระเจ้าโกศลทรงทราบเสด็จมาไต่สวน  ปรากฏว่าไม่ใช่หญิงจริง  ก็ทรงเลื่อมใสต่อมาท่านได้เจริญกัมมัฏฐานจนสำเร็จพระอรหัตตผล

๕๖. พระวังคีสเถระ
                ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี  มีมนต์อย่างหนึ่งชื่อว่า ฉวสีสะ ชำนาญในการพิสูจน์กระโหลกคนว่าจะไปเกิดในที่ไหน  เมื่อชาติก่อนเป็นอะไร   โดยใช้เล็บเคาะกระโหลกศีรษะ  จนมีคนนับถือมาก ภายหลังทราบว่าพระบรมศาสดาเป็นนักปราชญ์  จึงมาเฝ้าแสดงความรู้แก่พระองค์   พระองค์ก็ได้นำกระโหลกพระอรหันต์มาให้ท่านพิสูจน์  แต่ท่านพิสูจน์ไม่ได้จึงยอมแพ้ประสงค์จะเรียนพุทธมนต์จึงอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเมื่อบวชแล้วพระบรมศาสดาทรงประทานกัมมัฏฐานมีอาการ   ๓๒    ให้ท่านสาธยาย   โดยล่วงไป  ๒-๓ วัน  จึงได้สำเร็จอรหัตตผล
เอตทัคคะ
เมื่อท่านจะเข้าเฝ้าทีไรมักผูกบทบาทคาถาแต่งกลอนถวายทุกครั้ง   ด้วยเหตุนี้พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางมีปฏิภาณในการผูกบทบาทคาถา
๕๗. พระปิลินทวัจฉเถระ
                ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์วัจฉโคตร  ท่านมีศรัทธาเลื่อมใสจึงอุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เมื่อบวชแล้วเจริญสมถกัมมัฏฐาน  ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตตผล   ท่านมักเรียกใคร ๆ  ว่า วสลิ  แปลว่า  คนถ่อย  เสมอ ๆนับว่าเป็นเพราะกรรมเก่าของท่าน  เป็นการพูดโดยไม่ตั้งใจให้ร้ายใคร
เอตทัคคะ
เทพยดาทั้งหลายทราบว่าท่านเป็นผู้ให้เทวสมบัติแก่พวกตนจึงพากันรักใคร่ท่าน   ดังนั้น  พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา
๕๘. พระกุมารกัสสปเถระ
                ท่านเป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์  มารดาของท่านมีครรภ์แต่ไม่รู้   ได้ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี   และคลอดบุตรในระหว่างนั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาได้ยินเสียงเด็กร้อง  จึงขอไปเลี้ยงไว้เป็นราชโอรสบุญธรรม  เมื่อมีอายุครบ  ๒๐  ก็ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  ต่อมาได้ฟังปัญหาพุทธยากรณ์  ๑๕  ข้อ
เอตทัคคะ
ท่านเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยอุปมาอุปไมย   พร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย  ฉลาดในการสั่งสอน   ดังนั้นจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมได้อย่างวิจิตร
๕๙. พระมหาโกฏฐิตเถระ
           ท่านเป็นบุตรของอัสสลายนะพราหมณ์กับนางจันทวทีพราหมณี ในนครราชคฤห์ ได้ศึกษาลัทธิพราหมณ์จนจบไตรเพท แต่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  จึงออกบวชประพฤติพรหมจรรย์  มีพระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์มีพระมหาโมคัลลวนเถระเป็นพระอาจารย์ ได้สำเร็จพระอรหัตตผลขณะปลงผม  ด้วยอำนาจวิปัสสนากัมมัฏฐานพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา

เอตทัคคะ
ท่านเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา  ไม่ว่าจะเข้าไปหาพระเถระรูปไหนก็ดี  หรือเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็ดี   มักถามปัญหาในปฏิสัมภิทาทั้ง  ๔  เป็นประจำ  ต่อมาพระบรมศาสดาทำมหาเวทัลลสูตรให้เป็นต้นเหตุ  ตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา
๖๐. พระโสภิตเถระ
           ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี  เมื่อเติบโตได้ศึกษาอักษรสมัยในลัทธิพราหมณ์  ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดความเลื่อมใสจึงได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  ครั้นอุปสมบทแล้วบำเพ็ญเพียรไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านชำนาญในการระลึกชาติมาก  ดังนั้นจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้ระลึกปุพเพนิวาสญาฌ
๖๑. พระนันทกเถระ
           ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี มีความเลื่อมใสจึงอุปสมบทในพระพุทธศาสนาต่อมาได้บำเพ็ญ  สมณธรรมจนสำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านได้แสดงอายตนะ  ๖  แก่นางภิกษุณี  ๕๐๐  รูป  ให้ได้สำเร็จพระอรหัตตผลทั้งหมดด้วยเหตุนั้นจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๖๒. พระมหากัปปินเถระ
           ท่านเป็นพระราชาในกุกกุฏวดีนคร   ทรงสดับข่าวจากพ่อค้าว่า พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เกิดในโลกและประทับที่เมืองสาวัตถีทรงเลื่อมใสสละราชสมบัติเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมด้วยบริวารได้ฟังธรรมจนสำเร็จพระอรหัตตผลแล้วบวชพร้อมกันหมด
เอตทัคคะ
เพราะเหตุที่ท่านได้สั่งสอนให้บริวารของตนให้ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท
๖๓. พระศาคตเถระ
           ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี  มีความเลื่อมใสจึงได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  เมื่ออุปสมบทแล้วได้ตามเสด็จพระบรมศาสดาไปยังเมืองโกสัมพี ท่านมีชื่อเสียงในการเจริญเตโชกสิณ มีเรืองเล่าว่า  ท่านได้ต่อสู้กับพญานาคที่มาเบียดเบียนชาวเมืองโกสัมพีให้หายพยศชาวเมืองจึงพากันเลื่อมใสมากได้ถวายสุราอ่อนแก่ท่าน ท่านฉันจนเมาหมดสตินอนที่กองหยาดเยื่อ พระบรมศาสดาทรงทราบจึงตรัสบัญญัติสุราปานสิกขาบท และติเตียนท่านเป็นอันมากรุ่งขึ้นเช้าตรู่ท่านได้สติทูลขอโทษได้ความสังเวช   หมั่นเจริญสมณธรรมก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ต่อมาพระบรมศาสดาประทับ  ณ  วัดเชตวัน  ทรงยกเอาคุณสมบัติของท่านดังกล่าวแล้วให้เหตุแล้วตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางฉลาดในเตโชกสิณ
๖๔. พระอุปเสนเถระ
           ท่านเป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์กับนางสารีพราหมณี   เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ  ครั้นเจริญวัยแล้วได้ศึกษาจบไตรเพทในลัทธิพราหมณ์ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดความเลื่อมใสจึงได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา   แล้วบำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ตอนท่านบวชได้พรรษาเดียว  ก็ให้อุปสมบทแก่กุลบุตร   พระบรมศาสดาทรงทราบ  จึงตรัสติเตียนว่าเป็นคนสะเพร้ามักมาก   เมื่อสำเร็จอรหันต์แล้วในพรรษาที่  ๑๐  ได้แสดงธรรมมีกุลบุตรเลื่อมใสมาขอบวชกันมาก  ท่านก็ฝึกสอนให้รู้วินัยแล้วจึงบวช  แต่นั้นก็ให้เรียนธุดงค์  ๑๓  ให้ยินดีในการอยู่ป่าดุจท่าน   จนมีบริวารถึง ๕๐๐ เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบจึงทรงสรรเสริญท่านว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางยังพหุชนให้เลื่อมใส

๖๕. พระขทิรวนิยเรวตเถระ
           ท่านเป็นบุตรวังคันตพราหมณ์กับนางสารีพราหมณี  เป็นน้องชายคนเล็กของพระสารีบุตรเถระ  เมื่ออายุได้  ๗ ปี  บิดา มารดารีบจัดการแต่งงานเพราะกลัวจะบวชเสียก่อนในวันแต่งงานท่านได้ออกอุบายหนีไปบวชเป็นสามเณรในสำนักภิกษุ ๓๐ รูปในป่าที่พระสารีบุตรสั่งไว้  ภายหลังกลัวพวกญาติจะตามมาพบ จึงเรียนเอากัมมัฏฐานแล้วลาไปอยู่ป่าสะแก บำเพ็ญเพียรไปก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลในพรรษานั้น พอออกพรรษา  พระบรมศาสดากับพระสารีบุตรพร้อมด้วยหมู่สงฆ์เสด็จไปเยี่ยม ท่านนิมิตรเรือนอย่างละ ๕๐๐ สำหรับเป็นที่พักแก่หมู่สงฆ์ ทรงประทับอยู่ ๑ เดือนก็เสด็จกลับ
เอตทัคคะ
ท่านชอบอยู่ป่ากันดารเช่นนี้ จึงมีฉายาว่า ขทิรวนิยะ”  และต่อมาพระบรมศาสดายกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่ากันดาร
๖๖. พระสีวลีเถระ
           ท่านเป็นโอรสแห่งศากยะกุมารกับพระนางสุปปวาสาธิดาโกลิยวงศ์  เมื่อตั้งครรภ์มีผู้เอาของสักการะมาถวายทุกเช้าเย็น  อยู่ในครรภ์ตั้ง  ๗  ปี  ๗  เดือน ๗ วัน   ด้วยผลกรรมที่ไปล้อมเมืองเพื่อชิงราชสมบัติในชาติก่อน  ครั้นเวลาคลอดก็ง่ายดุจน้ำออกจากกระบอก ทำให้ประยูรญาติเบาใจจึงขนานนามว่า  สีวลี เมื่อเจริญวัยเกิดศรัทธาไปบวชในสำนักพระสารีบุตรเถระ   ได้สำเร็จพระอรหัตตผลขณะปลงผมเสร็จพอดี


เอตทัคคะ
เมื่อท่านได้เข้ามาบวช จะอยู่ที่ไหนก็บริบูรณ์ด้วยลาภ จนพระบรมศาสดาจะพาสงฆ์ไปไหนทางกันดารต้องเอาท่านไปด้วย อาศัยเหตุนี้  พระองค์จึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยลาภ
๖๗. พระพาหิยทารุจิริยเถระ
           ท่านเป็นบุตรกุฎุมพีผู้มั่งคั่ง ในแคว้นพาหิยราษฏร์  เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปค้าขายยังแคว้นสุวรรณภูมิเรืออัปปางในกลางมหาสมุทร  ท่านเกาะแผ่นกระดานว่ายน้ำมาถึงฝั่งได้ ไม่มีเครื่องนุ่งห่มจึงเอาเปลือกไม้บ้าง  ใบไม้บ้างมานุ่งห่ม   คนทั้งหลายเห็นนึกว่าเป็นพระอรหันต์มักน้อยสันโดษ เมื่อพรหมเทพผู้เป็นสหายเก่ามาเตือนว่าท่านประพฤติลวงโลก  แนะนำให้ไปพบพระศาสดา  ได้พบพระบรมศาสดาขณะทรงบาตรในระหว่างทาง  จึงเข้าไปหมอบลงริมพระบาททูลขอให้แสดงธรรมแก่ตนพระบรมศาสดาจึงทรงแสดงธรรมโดยย่ออันรวมในไตรสิกขา ท่านส่งจิตไปตามกระแสธรรมก็สำเร็จพระอรหัตตผล
นิพพาน
ท่านปรารถนาจะอุปสมบทจึงไปแสวงหาผ้า   กำลังฉุดผ้าอยู่ที่กองหยากเยื่อมีแม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่งวิ่งมาขวิดท่านตาย  จึงนิพพานในขณะนั้น  พระบรมศาสดาเสด็จทรงบาตรต่อไปพบท่านนอนตายอยู่ที่นั่น  จึงรับให้สงฆ์จัดการเผาสรีระแล้วนำอัฐิไปบรรลุไว้ที่ใกล้ทาง  ๔   แพร่งเพื่อเป็นที่สักการะ
เอตทัคคะ
ในกาลต่อมาพระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ขิปปาภิญญา  คือตรัสรู้เร็ว
๖๘. พระพากุลเถระ
           ท่านเป็นบุตรเศรษฐีในนครโกสัมพี  ในคราวโกนผมไฟ  นางนมได้พาท่านไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ปลาได้ฮุบเอาท่านไป ปลาร้อนท้องกระวนกระวายไปติดแหชาวประมง ๆ ได้นำปลาไปขายให้เศรษฐีในตำบลที่ท่านอยู่เศรษฐีแล่ปลาเห็นทารกก็มีความรักใคร่ดุจบุตร  เลยเลี้ยงไว้ให้เป็นบุตร   ต่อมาเศรษฐีผู้บิดาทราบข่าว  ก็เกิดเรื่องถึงกับจะแย่งบุตร   จนพระเจ้าแผ่นดินทรงตัดสินให้ทั้ง  ๒  ตระกูลเลี้ยงในเวลาเท่า ๆ กัน  เมื่อเจริญวัยแล้วได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา  แล้วเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จพระอรหัตตผล
เอตทัคคะ
ท่านเป็นผู้ไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนเลยตั้งแต่เป็นฆราวาสจนถึงนิพพาน  ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคาพาธน้อย   ท่านอยู่มาถึงอายุประมาณ  ๑๔๐  ปี  จึงนิพพานในท่างกลางสงฆ์  และอธิฐานเตโชธาตุ  ให้เผาสรีระเหลือแต่อัฏฐิสีขาวดังดอกมะลิ
๖๙. พระทัพพมัลลบุตรเถระ
           ท่านเป็นโอรสของมัลลกษัตริย์  พระมารดาของท่านมรณะเมื่อท่านจะประสูติ  เมื่อกำลังเป่าศพพอพื้นอุทรร้อนก็แตกออก ๒ เสี่ยง  ตัวท่านกระเด็นไปตกบนพื้นหญ้าไม่เป็นอันตรายเลย  เมื่ออายุได้ ๗ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรและได้บรรลุพระอรหัตตผลขณะปลงผมเสร็จ
เอตทัคคะ
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางจัดแจงเสนาสนะและแจกภัตต์   ท่านนิพพานในอากาศตั้งแต่ยังหนุ่ม
๗๐. พระอุทายีเถระ
           ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ ในเมืองกบิลพัสดุ์ เลื่อมใสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจึงออกบวชแล้วได้สำเร็จพระอรหัตตผล  ท่านมีเชื่อเสียงในทางแสดงธรรม
๗๑. พระอุปวาณเถระ
           ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี  ได้พบพระพุทธเจ้า ในพิธีถวายพระเวฬุวัน  เกิดความเลื่อมใสจึงได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้ามาก่อนที่พระอานนท์จะมารับตำแหน่ง ในตอนปรินิพพาน  ท่านได้ถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า
๗๒. พระเมฆิยเถระ
           ท่านได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ครั้งหนึ่งท่านเคยได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก  ในตอนนั้นท่านได้เห็นสวนมะม่วงที่น่ารื่นรมย์  ประสงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมที่นั่น  พระบรมศาสดาทรงห้ามถึง  ๓  ครั้งท่านก็ไม่ฟัง  ผลที่สุดก็ไม่ได้สำเร็จอะไร เพราะถูกอกุศลวิตกครอบงำเสีย  ต่อมาได้ฟังเทศนาสำหรับระงับวิตกจากพระบรมศาสดาแล้วพยายามบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จพระอรหัตตผล
๗๓. พระนาคิตเถระ
           ท่านเกิดที่ไหน  บวชเมื่อไร  ไม่มีประวัติ  แต่เมื่อบวชแล้วเคยเป็นพุทธอุปัฏฐากมาก่อน.
๗๔. พระจุนทเถระ
           ท่านเป็นน้องชายพระสารีบุตรเถระ  เกิดที่บ้านนาลันทา  เมืองราชคฤห์  ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากมาครั้งหนึ่ง เมื่อพระสารีบุตรผู้พี่ชายไปนิพพานที่บ้านเกิด   ท่านได้ติดตามไปด้วยและได้รวบรวมบาตรและจีวรพร้อมทั้งอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตรเถระมาถวายพระพุทธเจ้า  ที่เชตวันมหาวิหารด้วย
๗๕. พระยโสชเถระ
           ท่านเป็นบุตรชาวประมง   ในเมืองสาวัตถี  มีความเลื่อมใสจึงได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  ต่อมาได้เจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัดคุมุทา  ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 



๗๖. พระสภิยเถระ
           ท่านเคยบวชเป็นปริพพาชก   ท่านเที่ยวถามปัญหาตอบปัญหาไปเรื่อย ๆ   เมื่อได้มาถามปัญหากับพระพุทธเจ้า   พอใจในคำตอบเกิดความเลื่อมใสและได้ขอบวช  พระพุทธเจ้าทรงให้อยู่ติดถิยปริวาส  ๔  เดือน  จึงทรงอนุญาติให้อุปสมบท  ต่อมาก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
๗๗. พระเสลเถระ
           ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ในอังคุตตราชนบท เชี่ยวชาญไตรเพทจนเป็นคณาจารย์สั่งสอนศิษย์ประมาณ ๓๐๐  คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคมจึงเข้าไปเฝ้าถามปัญหาต่าง ๆพอใจในคำตอบเกิดความเลื่อมใสจึงได้ขอบวช  บำเพ็ญเพียรไม่ช้าก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
๗๘. พระมหาปรันตปเถระ
ประวัติของท่านองค์นี้  ทราบความแต่เพียงเป็นผู้ฉลาดในการสั่งสอนพุทธบริษัท  และเป็นพระอรหันต์เท่านั้นฯ
๗๙. พระนาลกเถระ
           ท่านเป็นบุตรของนางพราหมณีซึ่งเป็นน้องสาวของอสิตดาบส  ในนครกบิลพัสดุ์  ได้มาเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา (การปฏิบัติเพื่อเป็นนักปราชญ์) แล้วจึงขอบวชจากนั้นก็ทูลลาไปบำเพ็ญสมณ ธรรมในป่าหิมพานต์อย่างเคร่งครัดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์  ดำรงชีวิตมาอีก  ๗  เดือนก็นิพพาน
๘๐. พระองคุลิมาลเถระ
           ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี  บิดาชื่อว่า ภัคควพราหมณ์เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล  เดิมชื่อว่า อหิงสกะได้ศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์ในเมืองตักกสิลา ปรากฏว่าท่านเรียนเก่งมีความรู้ ความประพฤติดี  พวกศิษย์ด้วยกันริษยา  ยุให้อาจารย์กำจัดเสีย อาจารย์หลงเชื่อจึงลวงให้อหิงสกะไปฆ่าคนมาให้ครบพันหนึ่ง  แล้วจะมอบวิชาวิเศษให้  ท่านจึงฆ่าคนคามคำสั่งของอาจารย์  จึงกลายเป็นคนที่โหดร้ายทารุณมาก  ฆ่าแล้วเอานิ้วคนมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอ  จึงได้ชื่อว่าองคุลีมาล  ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด  ท่านกลับใจจึงขอบวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  เป็นพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา

ภิกษุที่ได้รับเอตทัคคะมีทั้งหมด  ๔๑  รูปด้วยกัน  คือ

. พระอัญญาโกณทัญญะเถระ                        เป็นเลิศทางรัตตัญญู
. พระอุรุเวลกัสสปเถระ                                 เป็นเลิศทางมีบริวารมาก
. พระมหาสารีบุตรเถระ                                 เป็นเลิศทางมีปัญญามาก
. พระมหาโมคคัลลานเถระ                           เป็นเลิศทางมีฤทธิ์มาก
. พระมหากัสสปเถระ                                     เป็นเลิศทางทรงธุดงค์
. พระมหากัจจายนเถระ                                  เป็นเลิศทางอธิบายคำย่อให้พิสดาร
. พระโมฆราชเถระ                                         เป็นเลิศทางทรงจีวรเศร้าหมอง
. พระราธเถระ                                                  เป็นเลิศทางมีปฏิภาณแจ่มแจ้ง
. พระปุณณมันตานีบุตรเถระ                         เป็นเลิศทางเป็นพระธรรมกถึก
๑๐. พระกาฬุทายีเถระ                                       เป็นเลิศทางยังสกุลที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
๑๑. พระนันทเถระ                                             เป็นเลิศทางสำรวมอินทรีย์
๑๒. พระราหุลเถระ                                           เป็นเลิศทางใคร่ในการศึกษา
๑๓. พระอุปาลีเถระ                                           เป็นเลิศทางทรงจำพระวินัย
๑๔. พระภัททิยเถระ                                          เป็นเลิศทางเกิดในตระกูลสูง
๑๕. พระอนุรุทเถระ                                          เป็นเลิศทางมีตาทิพย์
๑๖. พระอานนท์เถระ ๕ ทาง คือ                     เป็นพหูสูตมีสติมีธิติมีคติ  และเป็นพุทธอุปัฏฐาก
๑๗. พระโสณโกฬิวิสเถระ                               เป็นเลิศทางปรารถความเพียร
๑๘. พระรัฏฐบาลเถระ                                      เป็นเลิศทางบวชด้วยศรัทธา
๑๙. พระพระปิณโฑลภารทวาชเถระ             เป็นเลิศทางบันลือสีหนาท
๒๐. พระมหาปันถกเถระ                                  เป็นเลิศทางเจริญวิปัสสนา
๒๑. พระจูฬปันถกเถระ                                    เป็นเลิศทางชำนาญมโนมยิทธิ
๒๒. พระโสณกุฏิกัณณเถระ                            เป็นเลิศทางแสดงธรรมไพเราะ
๒๓. พระสกุณฏกเถระ                                      เป็นเลิศทางมีเสียงไพเราะ
๒๔. พระสุภูมิเถระ                                            เป็นเลิศทางอรณวิหารและทักขิเณยยบุคคล
๒๕. พระกังขาเรวตเถระ                                                  เป็นเลิศทางยินดีในฌานสมาบัติ
๒๖. พระวักกลิเถระ                                           เป็นเลิศทางศรัทธาวิมุตติ
๒๗. พระกุณฑธานเถระ                                   เป็นเลิศจับสลากเป็นปฐม
๒๘. พระวังคีสเถระ                                          เป็นเลิศทางฉลาดในการผูกคาถา
๒๙. พระปิลินทวัจฉเถระ                                  เป็นเลิศทางเป็นที่รักใคร่ของเทพยดา
๓๐. พระกุมารกัสสปเถระ                                เป็นเลิศแสดงเทศนาได้อย่างวิจิตร
๓๑. พระมหาโกฏฐิตเถระ                                เป็นเลิศทางแตกฉานในปฏิสัมภิทา
๓๒. พระโสภิตเถระ                                          เป็นเลิศทางชำนาญปุพเพนิวาสญาณ
๓๓. พระนันทกเถระ                                         เป็นเลิศทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๓๔. พระศาคตเถระ                                           เป็นเลิศทางฉลาดในเตโชกสิณ
๓๕. พระมหากัปปินเถระ                                 เป็นเลิศทางให้โอวาทแก่ภิกษุ
๓๖. พระอุปเสนเถระ                                        เป็นเลิศทางยังพหุชนให้เลื่อมใส
๓๗. พระขทิรวนิยเรวตเถระ                            เป็นเลิศทางอยู่ป่ากันดาร
๓๘. พระสีวลีเถระ                                             เป็นเลิศทางมีลาภมาก
๓๙. พระพาหิยทารุจิริยเถระ                            เป็นเลิศทางตรัสรู้เร็ว
๔๐. พระพากุลเถระ                                           เป็นเลิศทางมีอาพาธน้อย
๔๑. พระทัพพมัลลบุตรเถระ                            เป็นเลิศทางเสนาสนคาหาปกะ

ภิกษุณีที่ได้รับเอตทัคคะมี  ๑๓  รูปด้วยกัน  คือ

. พระนางมหาปชาบดีโคตมี                          เป็นเลิศทางรัตตัญญู
. พระนางเขมาเถรี                                          เป็นเลิศทางมีปัญญามาก
. พระนางอุบลวรรณาเถรี                               เป็นเลิศทางมีฤทธิ์มาก
. พระนางธรรมทินนาเถรี                              เป็นเลิศทางเป็นธรรมกถึก
. พระนางปฏาจาราเถรี                                   เป็นเลิศทางเป็นวินัยธร
. พระนางสกุลาเถรี                                          เป็นเลิศทางมีทิพยจักษุญาณ
. พระนางกีสาโคตมีเถรี                                 เป็นเลิศทางทรงจีวรเศร้าหมอง
. พระนางนันทาเถรี                                        เป็นเลิศทางเพ่งฌานสมาบัติ
. พระนางภัททากุณฑลเกสีเถรี                      เป็นเลิศทางตรัสรู้เร็ว
๑๐. พระนางภัททกาปิลานีเถรี                         เป็นเลิศทางปุพเพนิวาสนุสสติ
๑๑. พระนางโสณาเถรี                                      เป็นเลิศทางปรารภความเพียร
๑๒. พระนางสิงคาลมาตาเถรี                          เป็นเลิศทางศรัทธาวิมุตติ

๑๓. พระนางภัททากัจจานาเถรี                       เป็นเลิศทางบรรลุมหาภิญญา





















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น