วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

นักธรรมศึกษาชั้นตรี เนื้อหาวิชาวินัยมุข (แบบสรุป ฉบับเตรียมสอบ)

นักธรรมศึกษาชั้นตรี  เนื้อหาวิชาวินัยมุข  

กัณที่ ๑ วิธีการอุปสมบท
ในพุทธศาสนา พระศาสดาทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุโดย ๓ วิธี คือ
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมา วิธีนี้ทรงทำเอง.
๒. ติสรณคมนุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยถึง ๓ สรณะวิธีนี้ทรงอนุญาตให้สาวกทำ.
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทด้วยกรรมวาจาที่ ๔ ทั้งญัตติ วิธีนี้ทรงให้สงฆ์ทำ.
การบวชในพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ :-
๑. การบวชเป็นสามเณร เรียก บรรพชา.
๒. การบวชเป็นภิกษุ เรียก อุปสมบท.
สมบัติของการอุปสมบทอุต้องถึงพร้อมด้วยสบัติ ๕ คือ
๑. วัตถุสมบัติ.
๒. ปริสสมบัติ.
๓. สีมาสมบัติ.
๔. บุรพกิจ (สมบัติ)
๕. กรรมวาจาสมบัติ.
๑. วัตถุสมบัติ ในที่นี้วัตถุหมายถึงตัวผู้อปสมบทนั่นเอง
๑. ต้องเป็นมนุษย์ผู้ชาย.
๒. มีอายุครบ ๒๐ ปี.
๓. ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ คือถูกตอนเป็นต้น.
๔. ไม่เป็นคนทำผิดอย่างร้ายแรง เช่นฆ่ามารดาหรือบิดาเป็นต้น.
๕. ไม่เคยเป็นคนทำความเสียหายร้ายแรงในพระพุทธศาสนา เช่นต้อง ปาราชิก.
๒. ปริสสมบัติ คือ สมบูรณ์ด้วยบริษัท หมายความว่า ต้องมีภิกษุสงฆ์เข้าองค์ประชุมครบกำหนด ในมัชฌิมชนบท ๑๐ รูปขึ้นไป ในปัจจันตชนบท ๕ รูปขึ้นไป. (ในประเทศไทย ๑๐ รูปขึ้นไป)
๓. สีมาสมบัติ สมบูรณ์โดยสีมา คือภิกษุอยู่ในสีมาเดียวกัน ต้องเข้าประชุมหมด หากมีเหตุขัดข้องต้องมอบฉันทะสีมา ๒ ชนิด ๑. พัทธสีมา เขตที่สงฆ์สมมติไว้ทำสังฆกรรม  ๒. อพัทธสีมา เขตนอกเหนือจากที่สมมติวัดที่ยังไม่ได้ผูกพัทสีมา.
๔. บุรพกิจ ๑. ต้องมีผู้รับรอง คือพระอุปัชฌายะ        ๒. ต้องมีบริขารที่จำเป็น คือ บาตร สังฆาฏิ อุตราสงค์อันตรวาสก (รัดประคต อังสะ ผ้ารัดอก)                     ๓. ซักถามอันตรายิกธรรม.
๕. กรรมวาจาสมบัติ คือ การสวดประกาศในท่ามกลางสงฆ์ โดยออกชื่อผู้อุปสมบท ออกชื่ออุปัชฌาย์ด้วย และสวดให้ถูกต้องชัดเจนตามลำดับด้วยญัตติจตุตถกัมมวาจา.

กัณฑ์ที่ ๒ พระวินัย
กฎหมายและขนบธรรมเนียม สำหรับป้องกันความเสียหายและชักจูงให้ภิกษุประพฤติดีงาม เรียกว่า พระวินัย จัดเป็นส่วนหนึ่งของ พระไตรปิฎก (พระวินัยปิฎก, พระสุตตันตปิฎก, พระอภิธรรมปิฎก).
๑. พระวินัยนั้นแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ
๑. พระพุทธบัญญัติ ข้อที่ทรงตั้งไว้เป็นบทบังคับภิกษุ เพื่อป้องกันความเสียหาย และวางโทษแก่ผู้ล่วงละเมิด โดยปรับอาบัติหนักบ้างเบาบ้าง อย่างเดียวกับพระราชบัญญัติ.
๒. อภิสมาจาร ข้อที่ทรงแต่งตั้งไว้ เป็นขนบธรรมเนียม เพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุให้ดีงาม เหมือนอย่างขนบธรรมเนียมของสกุล.
๒. การบัญญัติพระวินัย
การบัญญัติพระวินัยนั้น ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า ต่อเมื่อเกิดความเสียหาย เพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว จึงทรงบัญญัติห้ามเป็นข้อ ๆ ไป. เฉพาะข้อหนึ่ง ๆ ยังแบ่งการบัญญัติออกเป็น ๒ วาระก็มี
๑. มูลบัญญัติ ข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิม.
๒. อนุบัญญัติ ข้อที่ทรงบัญญัติเพิ่มเติมทีหลัง.
รวมมูลบัญญัติและอนุบัญญัติเข้าด้วยกัน เรียกว่า สิกขาบท (ข้อที่ต้องศึกษา).
สิกขาบทข้อหนึ่ง ๆ มีหลายอนุบัญญัติก็มี เหมือนกับมาตราทางพระราชบัญญัติ.
๓. อาบัติ
แปลว่า ความต้องการ ได้แก่โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม หรือได้แก่กิริยาที่ล่วงละเมิดพระราชบัญญัติ และมีโทษเหนือตนอยู่.
๔. โทษ
อาบัตินั้นว่าโดยโทษมี ๓ สถาน คือ
๑. อย่างหนัก ขาดจากภิกษุ.
๒. อย่างกลาง ต้องอยู่กรรมจึงพ้น.
๓. อย่างเบา ต้องประจานตนต่อภิกษุด้วยกันจึงพ้นได้.
อีกอย่างหนึ่งมี ๒ สถาน คือ
๑. อเตกิจฉา แก้ไขไม่ได้.
๒. สเตกิจฉา แก้ไขได้.
๕. ชื่ออาบัติ
อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ
๑. ปาราชิก.
๒. สังฆาทิเสส.
๓. ถุลลัจจัย.
๔. ปาจิตตีย์ (นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๑ สุทธิกปาจิตตีย์ ๑).
๕. ปาฏิเทสนียะ.
๖. ทุกกฎ.
๗. ทุพภาสิต.
๖. ครุกาบัติ-ลหุกาบัติ
ครุกาบัติ คือ อาบัติหนัก แบ่งเป็น ๒ พวก คือ
๑. หนักแก้ไม่ได้ คือ ปาราชิก เรียก อเตกิจฉา.
๒. หนักแก้ได้ คือ สังฆาทิเสส เรียก สเตกิจฉา   ลหุกาบัติ คือ อาบัติเบา คือ ถุลลัจจัย ถึงทุพภาสิต.
๗. สมุฏฐาน คือทางเกิดอาบัติโดยตรง มี ๔ ทาง คือ
๑. ทางกาย เช่น ปาจิตตีย์ เพราะดื่มน้ำเมา.
๒. ทางวาจา เช่น ปาจิตตีย์ เพราะสอนธรรมแก่อนุสัมบันให้ว่าพร้อมกัน.
๓. ทางกายกับจิต เช่น ปาราชิก เพราะทำโจรกรรมเอง.
๔. ทางวาจากับจิต เช่น ปาราชิก เพราะสั่งให้ทำโจรกรรม.
๘. สจิตตกะ-อจิตตกะ
อาบัติทั้งหมดนั้น เพ่งเอาเจตนาเป็นที่ตั้ง แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
๑. สจิตตกะ เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่มีเจตนา.
๒. อจิตตกะ เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่ไม่มีเจตนา.
ทางกำหนดรู้อาบัติที่เป็นสจิตตกะ หรือ อจิตตกะ นั้น อยู่ที่รูปความและโวหาร (คำพูด) ในสิกขาบทนั้น ๆ นั่นเอง
๙. โลกวัชชะ-ปัณณัตติวัชชะ
อนึ่ง อาบัตินั้นเป็นโทษเสียหายได้อีก ๒ ทาง คือ
๑. โลกวัชชะ เป็นโทษทางโลก เช่น การฆ่ากัน ทุบตี ขโมย.
๒. ปัณณัตติวัชชะ เป็นโทษทางพระบัญญัติ เช่น ขุดดิน,ฉันอาหารในเวลาวิกาล.
๑๐. อาการที่ต้องอาบัติ ๖ อย่าง
๑. ต้องด้วยไม่ละอาย (แล้วขืนทำ)
๒. ต้องด้วยไม่รู้                  -"-
๓. ต้องด้วยสงสัย                -"-
๔. ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร (แล้วขืนทำ)
๕. ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร       -"-
๖. ต้องด้วยลืมสติ                -"-
๑๑. อานิสงส์พระวินัย
พระวินัยนั้น ภิกษุรักษาโดยถูกทางย่อมได้อานิสงส์ (ผลดี) คือความไม่ต้องเดือดร้อนใจเรียกว่า วิปฏิสาร* ย่อมได้ความแช่มชื่นเบิกบานเพราะรู้สึกว่าตนประพฤติดีงาม ไม่ต้องถูกจับกุมลงโทษ หรือติเตียนมีแต่จะได้รับการสรรเสริญ จะเข้าหมู่ภิกษุผู้ทรงศีลก็องอาจ ไม่สะทกสะท้านฝ่ายภิกษุประพฤติไม่ถูกทาง ย่อหย่อนทางวินัย ย่อมจะได้ผลตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
๑๒. ผลที่มุ่งหมายแห่งพระวินัย ๘ อย่าง
๑. เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนเหี้ยมโหด เช่น ห้ามฆ่ามนุษย์.
๒. " " ความลวงโลกเลี้ยงชีพ เช่น ห้ามอวดอุตตริ ฯ
๓. " " ความดุร้าย เช่นห้ามด่ากันตีกัน.
๔. " " ความประพฤติเลวทราม เช่น ห้ามพูดปด.
๕. " " ความประพฤติเสียหาย เช่น ห้ามแอบฟังความ.
๖. " " ความเล่นซุกซน เช่น ห้าไม่ให้เล่นจี้กัน.
๗. ทรงบัญญัติตามความนิยมของคนครั้งนั้น เช่น ห้ามมิให้ขุดดิน.
๘. " " โดยเป็นธรรมเนียมของภิกษุ เช่น ห้ามฉันอาหารในวิกาล.
* วิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อน หมายถึงความร้อนใจหลังจากการปฏิบัติผิด

กัณฑ์ที่ ๓ สิกขาบท
พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ เป็นสิกขาบทอันหนึ่ง ๆ สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์ ต้องรักษาไว้เป็นหลัก มีจำนวนจำกัดคือ ๒๒๗ ข้อ.สิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ พึงรักษาปฏิบัติตามความสามารถ มีจำนวนมาก หากภิกษุทำย่อหย่อน ขาดตกบกพร่องไปมาก ก็เสียธรรมเนียม หากรักษาได้มาก ก็จะส่งเสริมให้น่าเคารพนับถือยิ่งขึ้น
สิกขาบทในพระปาติโมกข์เดิมมี ๑๕๐ ต่อมาเพิ่มอนิยต ๒, เสขิย-วัตร ๗๕ รวมเป็น ๒๒๗ ผู้ละเมิดสิกขาบทในพระปาติโมกข์ ย่อมต้อง
โทษโดยตรง ๔ คือ
๑. ปาราชิก.
๒. สังฆาทิเสส.
๓. ปาจิตตีย์.
๔. ปาฏิเทสนียะ.
โดยอ้อมอีก ๓ คือ
๑. ถุลลัจจัย.
๒. ทุกกฏ.
๓. ทุพภาสิต.
อุทเทส ๙
๑. นิทานุทเทส วิธีอันภิกษุผู้ฟังพระปาติโมกข์ควรปฏิบัติก่อนสวดสิกขาบท
๒. ปาราชิกุทเทส สิกขาบทพวกปาราชิก ๔ ข้อ.
๓. สังฆาทิเสสุทเทส " สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ.
๔. อนิยตุทเทส " อนิยต ๒ ข้อ.
๕. นิสสัคคิยทุทเทส " นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ.
๖. ปาจิตติยุทเทส " สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ข้อ.
๗. ปาฏิเทสนิยุทเทส. " ปาฏิเทสนียะ ๔ ข้อ.
๘. เสขิยุทเทส " เสขิยวัตร ๗๕ ข้อ.
๙. อธิกรณสมถุทเทส " อธิกรณสมถะ ๗ ข้อ.

อนุศาสน์ ๘ อย่าง  นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสสัย มี ๔ อย่าง คือ
เที่ยวบิณฑบาต ๑ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๑ อยู่โคนไม้ ๑ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑
กิจที่ไม่ควรทำ เรียกอกรณียกิจ มี ๔ อย่าง คือ
เสพเมถุน ๑ ลักของเขา ๑ ฆ่าสัตว์ ๑ พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ๑ กิจ ๔ อย่างนี้ บรรพชิตทำไม่ได้
สิกขาของภิกษุมี ๓ อย่าง
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ชื่อว่า ศีล ความรักษาใจมั่น ชื่อว่าสมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขาร ชื่อว่าปัญญา
อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง
โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่า อาบัติ อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก ๑ สังฆาทิเสส ๑ ถุลลัจจัย ๑ ปาจิตตีย์ ๑ ปาฏิเทสนียะ ๑ ทุกกฎ ๑ ทุพภาสิต ๑

ศีล ๒๒๗ ข้อที่เป็นวินัยของสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุดได้ดังนี้ ได้แก่
ปาราชิก มี ๔ ข้อ
สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ
อนิยต มี ๒ ข้อ (อาบัติที่ไม่แน่ว่าจะปรับข้อไหน)
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ข้อ)
ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)
ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน) เสขิยะ (ข้อที่ภิกษุพึงศึกษาเรื่องมารยาท) แบ่งเป็น สารูปมี ๒๖ ข้อ (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ)
โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อ (ว่าด้วยการฉันอาหาร)
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อ (ว่าด้วยการแสดงธรรม)
ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ (เบ็ดเตล็ด)
อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)
ปาราชิก มี ๔ ข้อได้แก่
๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
๔. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธัมม์ อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)
สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ ถือเป็นความผิดหากทำสิ่งใดต่อไปนี้
๑.ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
๒.เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
๓.พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
๔.การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
๕.ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
๖.สร้างกุฏิด้วยการขอ
๗.สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
๘.แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๙.แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๑๐.ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
๑๑.เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
๑๒.เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง
๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์
อนิยตกัณฑ์ มี ๒ ข้อได้แก่
๑. การนั่งในที่ลับตา มีอาสนะกำบังอยู่กับสตรีเพศ และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ ปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว
๒. ในสถานที่ที่ไม่เป็นที่ลับตาเสียทีเดียว แต่เป็นที่ที่จะพูดจาค่อนแคะสตรีเพศได้สองต่อสองกับภิกษุผู้เดียว และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม 2 ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี ๓๐ ข้อ ถือเป็นความผิดได้แก่
๑.เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒.อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว
๓.เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน
๔.ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า
๕.รับจีวรจากมือของภิกษุณี
๖.ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
๗.รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
๘.พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
๙.พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
๑๐.ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง
๑๑.หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม
๑๒.หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน
๑๓.ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
๑๔.หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง ๖ ปี
๑๕.เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย
๑๖.นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้
๑๗.ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม
๑๘.รับเงินทอง
๑๙.ซื้อขายด้วยเงินทอง
๒๐.ซื้อขายโดยใช้ของแลก
๒๑.เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒๒.ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง
๒๓.เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย)ไว้เกิน ๗ วัน
๒๔.แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน
๒๕.ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง
๒๖.ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
๒๗.กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
๒๘.เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด
๒๙.อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน
๓๐.น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน
ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อได้แก่
๑.ห้ามพูดปด
๒.ห้ามด่า
๓.ห้ามพูดส่อเสียด
๔.ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน
๕.ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน(ผู้ไม่ใช้ภิกษุ)เกิน ๓ คืน
๖.ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง
๗.ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง
๘.ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช
๙.ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช
๑๐.ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด
๑๑.ห้ามทำลายต้นไม้
๑๒.ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน
๑๓.ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
๑๔.ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง
๑๕.ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ
๑๖.ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
๑๗.ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์
๑๘.ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน
๑๙.ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น
๒๐.ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน
๒๑.ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย
๒๒.ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว
๒๓.ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่
๒๔.ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ ๒๕.ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๖.ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๗.ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี
๒๘.ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางเรือร่วมกัน
๒๙.ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย
๓๐.ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี
๓๑.ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ
๓๒.ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม
๓๓.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น
๓๔.ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร
๓๕.ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว
๓๖.ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด
๓๗.ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล
๓๘.ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
๓๙.ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง
๔๐.ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน
๔๑.ห้ามยื่นอาหารด้วยมือให้ชีเปลือยและนักบวชอื่นๆ
๔๒.ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ
๔๓.ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน
๔๔.ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)
๔๕.ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม
๔๖.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา
๔๗.ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้
๔๘.ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป
๔๙.ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน
๕๐.ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ
๕๑.ห้ามดื่มสุราเมรัย
๕๒.ห้ามจี้ภิกษุ
๕๓.ห้ามว่ายน้ำเล่น
๕๕.ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว
๕๔.ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
๕๖.ห้ามติดไฟเพื่อผิง
๕๗.ห้ามอาบน้ำบ่อยๆเว้นแต่มีเหตุ
๕๘.ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม
๕๙.วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน
๖๐.ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น
๖๑.ห้ามฆ่าสัตว์
๖๒.ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์
๖๓.ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์(คดีความ-ข้อโต้เถียง)ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว
๖๔.ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น
๖๕.ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
๖๖.ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน
๖๗.ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน
๖๘.ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)
๖๙.ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๐.ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๑.ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว
๗๒.ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท
๗๓.ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์
๗๔.ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ
๗๕.ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ
๗๖.ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล
๗๗.ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น
๗๘.ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
๗๙.ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน
๘๐.ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ
๘๑.ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
๘๒.ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล
๘๓.ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา
๘๔.ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่
๘๕.เมื่อจะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน
๘๖.ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์
๘๗.ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ
๘๘.ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น
๘๙.ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
๙๐.ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
๙๑.ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
๙๒.ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ
ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อได้แก่
๑. ห้ามรับของคบเคี้ยว ของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน
๒. ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร
๓. ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมุติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคล แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอรหันต์)
๔. ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนมาฉันเมื่ออยู่ป่า
เสขิยะ สารูป มี ๒๖ ข้อได้แก่
๑.นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)
๒.ห่มให้เป็นนปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)
๓.ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน
๔.ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน
๕.สำรวมด้วยดีไปในบ้าน
๖.สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน
๗.มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)
๘.มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน
๙.ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน
๑๐.ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน
๑๑.ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน
๑๒.ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน
๑๓.ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน
๑๔.ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
๑๕.ไม่โคลงกายไปในบ้าน
๑๖.ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
๑๗.ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘.ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
๑๙.ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
๒๐.ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
๒๑.ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
๒๒.ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
๒๓.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
๒๔.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
๒๕.ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
๒๖.ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน
โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อคือหลักในการฉันอาหารได้แก่
๑.รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ
๒.ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร
๓.รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)
๔.รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร
๕.ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ
๖.ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร
๗.ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)
๘.ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป
๙.ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
๑๐.ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
๑๑.ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้
๑๒.ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
๑๓.ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
๑๔.ทำคำข้าวให้กลมกล่อม
๑๕.ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง
๑๖.ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
๑๗.ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
๑๘.ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
๑๙.ไม่ฉันกัดคำข้าว
๒๐.ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
๒๑.ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
๒๒.ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
๒๓.ไม่ฉันแลบลิ้น
๒๔.ไม่ฉันดังจับๆ
๒๕.ไม่ฉันดังซูด ๆ
๒๖.ไม่ฉันเลียมือ
๒๗.ไม่ฉันเลียบาตร
๒๘.ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
๒๙.ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
๓๐.ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อคือ
๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
๕.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
๖.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
๗.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
๘.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
๙.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๑๐.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๑๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๑๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๑๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๑๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๑๕.ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๑๖.ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง
ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ
๑. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ
อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อได้แก่
๑. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ในที่พร้อมหน้า (บุคคล วัตถุ ธรรม)
๒. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการยกให้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติ
๓. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า
๔. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือตามคำรับของจำเลย
๕. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
๖. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด
                                 ๗. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป














2 ความคิดเห็น:

  1. ข้อ มูล ดี มีประโยชน์มากเลย
    ..อนุโมทนา ...บุญ..สา..ธุ
    ทำต่อไปนะ...ขอให้ใด้ บุญเยอะๆ..สา..ธุ

    ตอบลบ